Ultima Life

Ultima Life
2 ตัวจ่ายบาทละ 92 เต็งจ่ายบาทละ 800 แทงง่าย จ่ายไว เล่นได้ทุกวัน ดีจริง ๆ เลย มีทั้งหวยรัฐบาล หวยหุ้น หวยต่างประเทศ จับยี่กี ฯลฯ

กฏหมายขายตรง "รู้ก่อน รอดก่อน"

กฏหมายขายตรง "รู้ก่อน รอดก่อน"

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ใหม่) พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา และจะมีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือพอมีเวลาเตรียมตัว หรือเตรียมความพร้อม รองรับกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง (ใหม่) นี้ ราววันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐    

            พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

            มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๐”

            มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

            มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ตลาดแบบตรง” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

            “ตลาดแบบตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละราย ตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

            มาตรา ๔ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ห้างหุ้นส่วน” และ “บริษัท” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ตัวแทนขายตรง” และ “ซื้อ” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

            “ห้างหุ้นส่วน” หมายความว่า ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจํากัดตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ์

 “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือบริษัทมหาชน จำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด”

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙ ประธานกรรมการและกรรมการต้องไม่ดำรงตำแหน่ง หรือเป็นหุ้นส่วนหรือ เป็นผู้ถือหุ้นเกินจำนวนร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมดในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรง หรือตลาดแบบตรงในระยะหนึ่งปีก่อนดำรงตำแหน่งหรือระหว่างดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือกรรมการ”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๐ ผู้ใดจะประกอบธุรกิจขายตรงต้องเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

 “มาตรา ๒๔/๑ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้จำหน่ายอิสระต้องร่วมรับผิดต่อผู้บริโภค ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือบริการที่ผู้จำหน่ายอิสระขายให้แก่ผู้บริโภคหรือความเสียหาย ที่ผู้จำหน่ายอิสระนั้นได้ก่อขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จำหน่ายอิสระตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๖/๑ และมาตรา ๒๖/๒ ของส่วนที่ ๑ การประกอบธุรกิจขายตรง ในหมวด ๒ การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงแห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

 “มาตรา ๒๖/๑ ในกรณีที่มีการย้ายสำนักงาน ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่มีการย้าย มาตรา ๒๖/๒ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน ตามแบบ หลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๙/๑ และมาตรา ๒๙/๒ ของส่วนที่ ๒ การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ในหมวด ๒ การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงแห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

“มาตรา ๒๙/๑ ให้นำมาตรา ๒๖/๑ มาใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยอนุโลม มาตรา ๒๙/๒ ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ต่อนายทะเบียนตามแบบ หลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๐ ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงมีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้นแก่ผู้บริโภคพร้อมกับสินค้าหรือบริการ

ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคพร้อมกับสินค้าหรือบริการ เอกสารการซื้อขายตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องมีข้อความภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่าย โดยระบุชื่อผู้ซื้อ และผู้ขาย วันที่ซื้อขาย และวันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญา ซึ่งสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป”

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๒ การซื้อขายสินค้าหรือบริการใดที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ การซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้นไม่มีผลผูกพันผู้บริโภค”

มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและ ตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 “มาตรา ๓๘ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใดประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือ ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ประกาศกำหนด”

มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๘/๑ มาตรา ๓๘/๒ มาตรา ๓๘/๓ มาตรา ๓๘/๔ มาตรา ๓๘/๕ มาตรา ๓๘/๖ และมาตรา ๓๘/๗ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและ ตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

“มาตรา ๓๘/๑ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงต้องไม่เคยถูกเพิกถอน ทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียน และต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นห้างหุ้นส่วนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท หรือเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท

(๒) มีหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๒

            มาตรา ๓๘/๒ ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบใน การดำเนินงานของผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

            (๑)เป็นบุคคลล้มละลาย

(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

 (๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 (๔) เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอื่นที่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง

(๕) เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียน

            มาตรา ๓๘/๓ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียน และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๒

            มาตรา ๓๘/๔ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องไม่เคย ถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียน และต้องมีหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลซึ่งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๒

            มาตรา ๓๘/๕ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงต้องวาง หลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดวงเงินและรายละเอียดให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงขนาดหรือประเภทของการประกอบธุรกิจก็ได้ และให้มีการทบทวนวงเงินของหลักประกันทุกสามปี หลักประกันตามมาตรานี้ ได้แก่ เงินสด หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

             มาตรา ๓๘/๖ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง วางหลักประกันตามมาตรา ๓๘/๕ เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้นายทะเบียนเป็นผู้รับผิดชอบ ในการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์แยกเป็นแต่ละบัญชี เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่ละราย รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ดอกผลที่เกิดจากเงินฝากตามวรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดแบบตรงที่วางหลักประกันนั้น

            มาตรา ๓๘/๗ หลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงวางไว้ ตามมาตรา ๓๘/๕ หรือมาตรา ๔๑/๓ วรรคสี่ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ในกรณีที่มีการโอนกิจการหรือเลิกประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดแบบตรงจะขอรับคืนหลักประกันที่วางไว้พร้อมทั้งดอกผลได้ ก็ต่อเมื่อได้แสดงหลักฐานว่าได้ชำระหนี้ ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้เสร็จสิ้นแล้ว ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไม่มารับหลักประกันและดอกผลคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่โอนกิจการหรือวันที่เลิกประกอบธุรกิจ ให้หลักประกันและดอกผลนั้น ตกเป็นของแผ่นดิน”

            มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

            “มาตรา ๔๑ เมื่อได้รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ให้นายทะเบียนพิจารณาและตรวจสอบในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) แผนการจ่ายผลตอบแทนต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน

 (๒) สินค้าหรือบริการมีลักษณะตรงตามที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย

(๓) สัญญามีรายการถูกต้องและครบถ้วนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า การยื่นคำขอนั้นถูกต้องตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๙ และผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะตองห้ามตามมาตรา ๓๘/๑ มาตรา ๓๘/๓ หรือมาตรา ๓๘/๔ แล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอนำหลักประกันมาวางต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง

เมื่อผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนวางหลักประกันตามมาตรา ๓๘/๕ ครบถ้วนแล้ว ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนทราบ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหลักประกันนั้น”

มาตรา ๑๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๑/๑ มาตรา ๔๑/๒ มาตรา ๔๑/๓ มาตรา ๔๑/๔ มาตรา ๔๑/๕ มาตรา ๔๑/๖ และมาตรา ๔๑/๗ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและ ตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

“มาตรา ๔๑/๑ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า การยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง หรือตลาดแบบตรงไม่ถูกต้องตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๙ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในเวลาที่นายทะเบียนเห็นสมควร เมื่อผู้ยื่นคำขอได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงถูกต้องและวางหลักประกันตามมาตรา ๓๘/๕ ครบถ้วนแล้ว ให้นายทะเบียน รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารดังกล่าว

            ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งที่ให้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงภายในเวลาที่กำหนด ตามวรรคหนึ่ง หรือไม่วางหลักประกันให้ครบถ้วนตามมาตรา ๓๘/๕ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน การประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นกำหนดเวลาให้ปฏิบัติตามคำสั่ง

มาตรา ๔๑/๒ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง หรือตลาดแบบตรงขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๑ มาตรา ๓๘/๓ หรือมาตรา ๓๘/๔ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และให้นายทะเบียน แจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียน การประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง

มาตรา ๔๑/๓ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงซึ่งประสงค์จะโอนกิจการ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน การโอนกิจการตามวรรคหนึ่งต้องโอนให้แก่ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๑ มาตรา ๓๘/๓ หรือมาตรา ๓๘/๔ และผู้รับโอนกิจการต้องรับโอนทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่มีต่อผู้บริโภค ให้นำมาตรา ๔๑/๔ วรรคสอง (๑) และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การโอนกิจการโดยอนุโลม เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบคำขอโอนกิจการและหลักประกันที่ผู้รับโอนกิจการต้องวางตาม มาตรา ๓๘/๕ แล้ว เห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้นายทะเบียนแก้ไขทะเบียนให้ผู้รับโอนกิจการ เป็นผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี ต่อไป การขอโอนกิจการและการแก้ไขทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ประกาศกำหนด

มาตรา ๔๑/๔ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงซึ่งประสงค์จะเลิก ประกอบธุรกิจ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ในการขอเลิกประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจ ขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่นายทะเบียน จะยกเลิกการจดทะเบียน

(๑) ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งไปรษณีย์ตอบรับหรือ ส่งข้อมูลทางการสื่อสารอื่นใดให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาการรับประกันทราบถึง การเลิกประกอบธุรกิจเพื่อให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ดำเนินการตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖

(๓) จัดให้มีผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซมหรือให้บริการอื่นใดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ยังอยู่ ในระยะเวลาการรับประกัน

            (๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศ กำหนด ห้ามผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเสนอขายหรือโฆษณาสินค้า หรือบริการ หรือทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการกับผู้บริโภคนับแต่วันยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจ ตามวรรคหนึ่ง การเลิกประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงไม่เป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวพ้นจาก ความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

            มาตรา ๔๑/๕ เมื่อมีผู้ร้องเรียนหรือปรากฏต่อนายทะเบียนว่าผู้บริโภคผู้ใดได้รับความเสียหาย จากเหตุ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายสินค้า หรือบริการหรือตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงถูกเพิกถอนทะเบียนตามมาตรา ๔๒ ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงโดยเร็วและให้รับฟังคำชี้แจงของผู้ประกอบธุรกิจ ขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงซึ่งถูกกล่าวหาประกอบด้วย และเสนอคณะกรรมการพิจารณา วินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

            มาตรา ๔๑/๖ เมื่อปรากฏผลการพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๔๑/๕ ว่า ผู้บริโภคผู้ใดได้รับ ความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายใดและเป็นจำนวนเงินเท่าใด ให้นายทะเบียนจ่ายเงินจากหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดแบบตรงรายนั้นวางไว้เพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าว

            มาตรา ๔๑/๗ ในกรณีหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงวางไว้ไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะจ่ายเงินเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๔๑/๖ หรือลดลงเพราะได้มีการจ่ายเงินเพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าว ให้นายทะเบียนสั่งเป็นหนังสือให้ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงวางหลักประกันเพิ่มจนครบตามวงเงินที่กำหนดในกฎกระทรวงภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง”

 มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๒ เมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่าผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดแบบตรงผู้ใดมีพฤติการณ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก นายทะเบียน

(๒) ไม่รับผิดร่วมกับผู้จำหน่ายอิสระต่อผู้บริโภคตามมาตรา ๒๔/๑

(๓) ไม่แจ้งย้ายสำนักงานต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๒๖/๑ หรือมาตรา ๒๙/๑

(๔) ไม่รายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๒๖/๒ หรือมาตรา ๒๙/๒

(๕) ไม่ใช้ข้อความในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๘

 (๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๑ มาตรา ๓๘/๓ หรือมาตรา ๓๘/๔

 (๗) ไม่วางหลักประกันเพิ่มให้ครบถ้วนภายในสามเดือนนับแต่วันครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๑/๗

 (๘) หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๑/๓ หรือมาตรา ๕๒/๑ ในกรณีตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือ ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้องภายในเวลาที่นายทะเบียนเห็นสมควร เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงยังไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี

ในกรณีตาม (๑) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบ ธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนทั้งทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงแล้ว ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงทราบ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว

 มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ผู้ได้รับคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑/๑ วรรคสอง มาตรา ๔๑/๒ มาตรา ๔๑/๗ หรือมาตรา ๔๒ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อ คณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด”

            มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

            “มาตรา ๔๕ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการ ตามมาตรา ๕ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือคำสั่งของคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๖ หรือคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

            มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินสองหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”

มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

มาตรา ๒๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ หรือมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท”

 มาตรา ๒๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๑/๑ มาตรา ๕๑/๒ และมาตรา ๕๑/๓ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

“มาตรา ๕๑/๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๕๑/๒ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงผู้ใดไม่จัดทำเอกสาร การซื้อขายสินค้าหรือบริการ หรือผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ผู้ใดไม่ส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ หรือส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา

๕๑/๓ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงผู้ใดจัดทำเอกสาร การซื้อขายสินค้าหรือบริการที่มีข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

            มาตรา ๒๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๒/๑ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและ ตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

             “มาตรา ๕๒/๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๑/๓ หรือมาตรา ๔๑/๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”

 มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย”

 มาตรา ๒๔ ให้ผู้ซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับที่มิใช่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทประกอบธุรกิจขายตรงต่อไปได้ แต่จะต้องดำเนินการจดทะเบียน เป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้ ภายใน หนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๒๕ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงอยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนตามมาตรา ๓๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 มาตรา ๒๖ ให้ผู้ที่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงอยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำเนินการวางหลักประกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา ๓๘/๕ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ผู้ซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงอยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ดำเนินการตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจ ขายตรงหรือตลาดแบบตรง ในกรณีที่ผู้ซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงตามวรรคหนึ่ง เป็นบุคคล หรือนิติบุคคลเดียวกัน ให้ถือว่าบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นถูกเพิกถอนทั้งทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง

มาตรา ๒๘ บรรดาคำขอจดทะเบียนใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนพิจารณาคำขอจดทะเบียนดังกล่าว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่การขอจดทะเบียนหรือการพิจารณารับจดทะเบียนดังกล่าวมีข้อแตกต่างไปจากการขอ จดทะเบียนหรือการพิจารณารับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอ จดทะเบียนแก้ไขหรือปฏิบัติตามให้ถูกต้องภายในสามสิบวัน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่แก้ไขหรือไม่ปฏิบัติ ตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้คำขอจดทะเบียนนั้นเป็นอันตกไป

มาตรา ๒๙ ประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผล ที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

            มาตรา ๓๐ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

............................................................................................................................


            หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ บางประการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงให้มีความชัดเจน และเหมาะสมยิ่งขึ้น อันจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และเพื่อให้มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครอง หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้            คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง ซึ่งต้องเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในการวาง หลักประกันตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการแจ้งให้นายทะเบียนทราบเมื่อมีการย้ายสำนักงาน ต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน และการจัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และกำหนด หลักเกณฑ์การโอนกิจการและการเลิกประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ตลอดจนกำหนดเหตุเพิกถอน ทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงให้ชัดเจน และปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

......................................................................................................................



ธุรกิจขายตรงมาแรงแห่งปี 2019

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น