คำว่า "แบรนด์" หรือที่เรารู้จักกันในภาษาบ้านๆ ว่า "ยี่ห้อ" นั้น เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันมานาน เพราะไม่ว่าเราจะซื้อสินค้าอะไร ก็จะมียี่ห้อ หรือ "แบรนด์" ติดอยู่กับสินค้านั้นๆ ตลอด เหตุผลคือต้องการให้ลูกค้าจดจำสินค้าของตนได้
"แบรนด์" นอกจากจะช่วยในเรื่องของการจดจำแล้ว ยังสามารถช่วยในเรื่องของการ "สร้างความน่าเชื่อถือ" แต่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์นั้น ไม่ได้เกิดจากตัวของแบรนด์โดยตรง แต่จะเกิดจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณภาพของสินค้า, ราคา, การบริการ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของแบรนด์ได้
"การสร้างแบรนด์" ให้เป็นที่จดจำและเกิดความน่าเชื่อถือไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็สามารถทำได้ โดยยึดหลักกฏ 3 ข้อ ดังนี้
1. คุณภาพ (Quality) ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของสินค้าและบริการ ที่สำคัญคือ "คุณภาพ" ที่ก่อให้เกิดความน่าชื่อถือจนทำให้ "แบรนด์" เป็นที่ยอมรับของลูกค้า จะมีความหมายรวมถึง ความเอาใส่ และ ความซื่อสัตย์ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพขององค์กรและบุคคลากร ดังนั้น "คุณภาพ" จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง "แบรนด์" ให้ประสบความสำเร็จ
2. อัตลักษณ์ (Identity) หมายถึงการแสดงความเป็นตัวตน ถ้าเป็นองค์กร ก็อาจจะเป็นเรื่องราวความเป็นมา หรือ พัฒนาการต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นสินค้าอาจจะเป็นเรื่องราว (Story) ซึ่งเป็นที่มาของสินค้าว่าเริ่มต้นมาอย่างไร ซึ่งการที่ลูกค้าได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมา ขององค์กร หรือสินค้า นอกจากจจะช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้ามีความรู้สึกร่วมเหมือนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หรือสินค้า นั้นๆ
3. ความแตกต่าง (Difference) เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่สามารถใช้บ่งชี้ถึงโอกาสในความสำเร็จ เพราะหากสินค้าหรือบริการของเรา ไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ผู้ บริโภคก็จะไม่เห็นคุณค่า ดังนั้นหากเราต้องการที่จะให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จัก เป็นที่จดจำ เราจะต้องมีความโดดเด่น หรือมีความแตกต่าง จากคู่แข่ง โดยจะต้องเป็นความแตกต่างอย่างมีคุณค่า
สำหรับ ในเรื่องของความแตกต่างนั้น สามารถแยกได้หลายอย่างเช่น แตกต่างในเรื่องของสินค้า, แตกต่างในเรื่องของการให้บริการ, แตกต่างด้านภาพลักษณ์, แตกต่างในช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งในฐานะผู้เจ้าของแบรนด์ จะต้องหาความต่างที่ลงตัว เพื่อให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จัก จดจำ และน่าเชื่อถือ
ปัจจุบัน "แบรนด์" ไม่ได้เป็นเรื่องของสินค้าหรือองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวบุคคลด้วย ถ้ายังนึกไม่ออกว่าแบรนด์ส่วนบุคคลหรือ Personal Brand เป็นอย่างไร ลองนึกถึงคำว่า "ฟันธง!!", "คอนเฟิร์ม!!" คุณอ่านคำนี้แลวนึกถึงใครครับ?
ถ้าต้องการให้แบรนด์ของคุณ เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของสินค้า, หรือแบรนด์ส่วนบุคคล ลองนำหลักการ 3 ข้อนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ
บทความโดย : สุพจน์ ทรงเผ่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น